การกำกับดูแลกิจการ

  • นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • นโยบายบริหารความเสี่ยง
  • นโยบายจรรยาบรรณธุรกิจ
  • นโยบายการต่อต้านการทุจริตหรือคอรัปชั่น
  • นโยบายความปลอดภัย
  • กฎบัตรคณะกรรมการย่อย
  • จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์
  • ข้อบังคับบริษัท

6. นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

6.1 ภาพรวมของนโยบายและแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการ

บริษัท ตระหนักถึงความสําคัญของการปฏิบัติตามหลักการกํากับดูแลกิจการที่ดีในการสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน จึงได้ส่งเสริมการกํากับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกระดับขององค์กรมาโดยตลอด และยกระดับการกํากับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดี โดยคํานึงถึงผลกระทบระยะยาว ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทําให้บริษัทสามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

บริษัทเชื่อมั่นว่านโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นถึงการมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้นนักลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และตระหนักเป็นอย่างดีว่าในการกําหนดความสําเร็จของการดําเนินกิจการนั้น ต้องคํานึงถึงจริยธรรม ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญนอกเหนือจากผลประกอบการทางการเงิน อันจะนำบริษัทไปสู่ความมั่นคงเจริญก้าวหน้าและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนโยบายการกํากับดูแลกิจการที่ดีแล้ว บริษัทยังมีนโยบายเกี่ยวกับจรรยาบรรณและข้อพึงปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน (Code of Conduct) เพื่อให้มั่นใจว่า กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อเสริมสร้างและรักษาชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นขององค์กรในสายตาของบุคคลภายนอกตลอดถึงผู้ถือหุ้น นักลงทุนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเพื่อให้สอดคล้องและ เป็นไปตามนโยบายการกํากับดูแลกิจการที่ดีตามที่บริษัท ได้กําหนดไว้

นอกจากนโยบายข้างต้น บริษัทยังได้จัดให้มีนโยบายการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน นโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ นโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตหรือคอร์รัปชั่น และระเบียบปฏิบัติในแต่ละเรื่อง เพื่อเป็นการกําหนดเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อันจะพัฒนานําไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องต่าง ๆ ที่สนับสนุนการกํากับดูแลกิจการที่ดี

ส่วนนโยบายและแนวปฏิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวเกี่ยวข้องที่ประกาศใช้บังคับ เช่น นโยบายและแนวปฏิบัติต่อพนักงาน นโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน นโยบายและแนวปฏิบัติต่อลูกค้า นโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้ นโยบายและแนวปฏิบัติต่อคู่แข่งขัน นโยบายและแนวปฏิบัติต่อสังคม/ชุมชน นโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นโยบายนักลงทุนสัมพันธ์ นโยบายการเข้าทำรายการระหว่างกันของบริษัท นโยบายคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงองค์กร และแนวปฏิบัติการรับ-ให้ของขวัญ การเลี้ยง หรือผลประโชน์อื่นใดเป็นต้น รายละเอียดสามารถดูเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของบริษัท (http://nok-th.listedcompany.com/cg.html)

บริษัทได้กำกับดูแลให้มีการสื่อสารนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและนโยบายเกี่ยวกับจรรยาบรรณและข้อพึงปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอและหลากหลายช่องทางเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนเข้าใจ และมีการนำปฏิบัติได้จริง เช่น ทางระบบเครือข่ายภายในองค์กร (nokintranest) ทางระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) เป็นต้น ทั้งยังได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของบริษัท (http://nok-th.listedcompany.com/cg.html) เพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และผู้สนใจเข้าดูได้อย่างสะดวกด้วย ซึ่งเป็นที่มั่นใจได้ว่าทุกคนเข้าใจและมีกลไกเพียงพอที่เอื้อให้มีการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจสายการบินอย่างมาก ทำให้บริษัทตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเพื่อพัฒนาบริษัทโดยการปรับโครงสร้างหนี้และปรับปรุงกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการฟื้นฟูกิจการดังล่าวจะทำให้ธุรกิจของนกแอร์จะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ หรือองค์กรต่างๆ เช่น พนักงาน เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัท จะได้รับผลดีจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทอีกด้วย

6.1.1 นโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการ

ตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทและมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนอันได้แก่นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร, นายไต้ ชอง อี, นายปริญญา ไววัฒนา, นายชวลิต อัตถศาสตร์, นายเกษมสันต์ วีระกุล ร่วมกับ บริษัท แกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท และบรรดาสิทธิตามกฎหมายของคณะกรรมการและผู้ถือหุ้น ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล ตกแก่ผู้ทำแผน

ต่อมา ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ศาลล้มละลายได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผนอันได้แก่ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร, นายไต้ ชอง อี, นายปริญญา ไววัฒนาและนายชวลิต อัตถศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้อำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนถูกแทนที่ด้วยผู้บริหารแผนจนกว่าแผนเป็นผลสำเร็จ โดยแผนจะได้รับการพิจารณาว่าสำเร็จต่อเมื่อผู้บริหารแผนได้ชำระหนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในแผนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือเมื่อได้รับเงินเพิ่มทุน/สินเชื่อใหม่เป็นไปตามเงื่อนไขของแผนนี้ ในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

6.1.2 นโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้น

บริษัท ให้ความสำคัญและเคารพสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกรายไม่ว่าผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร รวมทั้งผู้ถือหุ้นต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน และบริษัทตระหนักดีว่า ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในความเป็นเจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้นยังคงมีสิทธิได้รับเงินปันผลตามข้อบังคับของบริษัท รวมทั้งกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทต้องปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตลอดจนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ตามหลักการของวิชาชีพ ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นโดยรวม
  2. นำเสนอรายงานสถานภาพของบริษัท ผลประกอบการ ข้อมูลฐานะทางการเงิน การบัญชี และรายงานอื่นๆ โดยสม่ำเสมอและครบถ้วนตามความเป็นจริง
  3. ห้ามไม่ให้แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นโดยใช้ข้อมูลใดๆ ของบริษัท ซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณะหรือดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ดังต่อไปนี้

6.1.3 นโยบายการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท

บริษัทได้มีมาตรการการป้องกันกรณีที่ผู้บริหารแผน กรรมการ ผู้บริหารแผนและผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นในทางมิชอบ ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นอื่น เช่น การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน การนำข้อมูลภายในไปเปิดเผยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารแผน กรรมการและผู้บริหาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นโดยรวม จึงได้กำหนดนโยบายการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทไว้ดังนี้

  1. ให้ความรู้แก่ผู้บริหารแผน กรรมการและผู้บริหารของบริษัท เกี่ยวกับหน้าที่ในการรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) รวมทั้งการรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 246 และบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 298 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (มีการแก้ไขเพิ่มเติม)
  2. ให้ผู้บริหารแผน กรรมการและผู้บริหารของบริษัท รวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จัดทำและเปิดเผยรายงานการถือครองหลักทรัพย์และรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัทต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 และบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) และจัดส่งสำเนารายงานนี้ให้แก่บริษัท ในวันเดียวกับวันที่ส่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. ผู้บริหารแผน กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทและบริษัทย่อย ที่ได้รับทราบข้อมูลภายในที่เป็นสาระสำคัญซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือน ก่อนที่งบการเงินหรือข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชนและในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมงภายหลังจากที่ข้อมูลภายในของบริษัท ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในต้องไม่เปิดเผยข้อมูลนั้นให้ผู้อื่นทราบจนกว่าจะได้มีการแจ้งข้อมูลนั้นให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาตรการลงโทษหากมีการกระทำการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น บริษัทถือเป็นความผิดทางวินัยตามข้อบังคับการทำงานของบริษัท โดยจะพิจารณาลงโทษตามควรแก่กรณี ได้แก่ การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นหนังสือการภาคทัณฑ์
  4. ห้ามมิให้ผู้บริหารแผน กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งยังมิได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งตนได้ล่วงรู้มาในตำแหน่งหรือฐานะเช่นนั้น มาใช้เพื่อการซื้อหรือขายหรือเสนอซื้อหรือเสนอขาย หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหรือขาย หรือเสนอซื้อ หรือเสนอขายซึ่งหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่น (ถ้ามี) ของบริษัท ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บริษัทไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวโดยตนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
  5. ห้ามมิให้ผู้บริหารแผน กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท เปิดเผยข้อมูลภายใน หรือความลับของบริษัท ตลอดจนข้อมูลความลับของคู่ค้าของบริษัท ที่ตนได้รับทราบจากการปฏิบัติหน้าที่ให้บุคคลภายนอกรับทราบ แม้ว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดผลเสียหายแก่บริษัทและคู่ค้าของบริษัท
  6. ผู้บริหารแผน กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท มีหน้าที่เก็บรักษาความลับ และ/หรือข้อมูลภายในของบริษัทและมีหน้าที่ในการใช้ข้อมูลภายในของบริษัทเพื่อประโยชน์การดำเนินธุรกิจของบริษัทเท่านั้น ทั้งนี้ห้ามมิให้ ผู้บริหารแผน กรรมการผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท นำความลับ และ/หรือข้อมูลภายในของบริษัทไปใช้ประโยชน์ให้แก่บริษัทอื่นที่ตนเองเป็นผู้ถือหุ้น กรรมการผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้าง
  7. ผู้บริหารแผน กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทมีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทางการใช้ข้อมูลภายในของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด รวมถึงกฎเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง

6.1.4 นโยบายการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน

บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อการพิจารณารายการต่างๆ อย่างโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเป็นสำคัญรวมทั้งให้ความสำคัญต่อการป้องกันรายการที่อาจเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ รายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการระหว่างกัน จึงได้กำหนดนโยบายการทำรายงานที่เกี่ยวโยงกันไว้ดังนี้

  1. ผู้บริหารและพนักงานต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของบริษัท ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเพื่อเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และจัดให้มีการ เผยแพร่ข้อมูลความเข้าใจในการถือปฏิบัติของพนักงานทั้งบริษัท
  2. ผู้บริหารแผน กรรมการบริษัทและผู้บริหารต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์หรือรายการเกี่ยวโยงในกิจการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  3. มีการนำเสนอรายการที่เกี่ยวโยงกันต่อคณะผู้บริหารแผนเพื่อพิจารณาอนุมัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด

6.1.5 นโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

บริษัทมีการกำหนดให้ผู้บริหารแผน กรรมการและผู้บริหารเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับส่วนได้เสียของตนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อใช้พิจารณาธุรกรรมของบริษัทที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และสามารถตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของบริษัทได้โดยรวม ซึ่งผู้บริหารแผน กรรมการและผู้บริหารที่มีส่วนได้เสียกับธุรกรรมที่ทำกับบริษัทไม่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำธุรกรรมดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์บนหลักการที่ว่าการตัดสินใจใดๆ ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจจะต้องทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยกำหนดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับรายการที่พิจารณา ต้องแจ้งให้บริษัททราบถึงความสัมพันธ์หรือการมีส่วนได้เสียของตนในรายการดังกล่าว และต้องไม่เข้าร่วมการพิจารณาตัดสินใจ รวมถึงไม่มีอำนาจอนุมัติในธุรกรรมนั้นๆ

นโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด(มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านการบริหารความเสี่ยงให้เชื่อมโยงกับกลยุทธ์แบบบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมทั่วทั้งองค์กรตามแนวทางปฏิบัติที่ดีในระดับมาตรฐานสากล เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ป้องกันและลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์ในการสร้างโอกาสและการแสวงหาผลตอบแทนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล อันจะนำไปสู่ระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง ดังต่อไปนี้

  1. ให้การบริหารความเสี่ยงเป็นความรับผิดชอบของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับชั้น ที่ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มีในการปฏิบัติงานในหน่วยงานของตนและบริษัทฯ โดยมีกลไกในการบริหารและกำกับความเสี่ยงด้านต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอและเหมาะสม
  2. กรอบและทบทวนกระบวนการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดี เพื่อให้บริษัทฯสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. ให้มีการประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ เพื่อจัดเตรียมแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจมีนัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และให้บริษัทฯสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
  4. ให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนและบริหารจัดการระบบการบริหารความเสี่ยงขององค์กรอย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์
  5. ให้มีแผนงานและกิจกรรม เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านการบริหารความเสี่ยงอย่างทั่วถึงและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกด้านความเสี่ยงให้แก่พนักงานตลอดจนส่งเสริมให้เกิดเป็นวัฒนธรรมในองค์กรอย่างยั่งยืน

นโยบายจรรยาบรรณธุรกิจ

นโยบาย
จรรยาบรรณของบริษัทใช้สำหรับผู้บริหารของบริษัทและบริษัทในเครือทุกบริษัท และทุกระดับไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะได้ลงนามรับทราบหรือไม่ เนื่องจากในหลักการของการประกอบธุรกิจของบริษัทนั้น การมีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของบริษัท ทั้งยังมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าและผลกำไรทางธุรกิจ เช่นเดียวกับชื่อเสียงและความดีงามของพนักงานระดับผู้บริหาร มาตรฐานการปฏิบัติเหล่านี้จึงเป็นผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของบริษัทโดยรวม

การปฏิบัติตามกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของบริษัทคือ การทำธุรกิจโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องเป็นไปตามข้อกำหนดต่าง ๆ และเคารพในสิทธิของผู้ค้า และลูกค้าของบริษัท

นโยบายและจรรยาบรรณของบริษัท

  1. การปฏิบัติตนตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่าง ๆ ของบริษัท

    จรรยาบรรณนี้เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นจากระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่งอื่น ๆ ของบริษัท หากข้อความในระเบียบข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ ขัดแย้งกับข้อความในจรรยาบรรณ ให้ใช้ข้อความในจรรยาบรรณนี้แทน

    พนักงานระดับผู้บริหารทุกคน ต้องปฏิบัติตนตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งต่าง ๆ ของบริษัทและของผู้บังคับบัญชาในระดับเหนือขึ้นไป กล่าวคือ

    1. ต้องสนับสนุนนโยบายและการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ข้อตกลง ประกาศ หรือหนังสือเวียนของบริษัท ซึ่งประกาศให้พนักงานทุกคนทราบโดยเคร่งครัด
    2. ต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรม ตลอดจนต้องรายงานเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง และทรัพย์สินของบริษัท โดยเร็ว
    3. ต้องสุภาพ ให้เกียรติ และให้ความนับถือต่อผู้ร่วมงาน
    4. ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ วิริยะอุตสาหะ รักษาระเบียบแบบแผนและธรรมาภิบาลของบริษัทเพื่อเป็นแบบอย่างอันดีให้แก่พนักงานโดยทั่วไป เพื่อให้บริษัทมีความก้าวหน้า และเป็นไปอย่างถูกต้องตามครรลองธรรม
    5. ต้องรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์และความลับของบริษัทของลูกค้า หรือที่เกี่ยวกับกิจการใด ๆ ที่บริษัทไม่พึงเปิดเผยโดยเคร่งครัด การเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ อันเกี่ยวกับธุรกิจการเงินและตัวบุคคลของบริษัทจะต้องกระทำตามแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น และต้องกระทำด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่เป็นพนักงานของบริษัทและภายหลังจากพ้นสภาพของพนักงานของบริษัทพนักงานทุกคนตกลงจะรักษาข้อมูลอันเป็นความลับดังกล่าวข้างต้นไว้เป็นความลับ หากมีการเปิดเผยหรือส่งให้แก่ผู้อื่นหรือใช้ข้อมูลดังกล่าวในเรื่องอื่นใดนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ให้กับบริษัทพนักงานตกลงยินยอมรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายให้แก่บริษัทตามที่เกิดขึ้นจริงทุกประการ
    6. ต้องช่วยกันระมัดระวังและป้องกันทรัพย์สินของบริษัทโดยมิให้เสียหายหรือสูญหายไม่ว่าจากบุคคลหรือจากภัยพิบัติใดๆ เท่าที่สามารถจะทำได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งไม่นำสิ่งของใดๆ ไม่ว่าอุปกรณ์หรือทรัพย์สินของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท
    7. บริหารงานโดยยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้มีคุณธรรมและจริยธรรมในทุกระดับของบริษัทตลอดจนสอดส่องดูแลและจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในบริษัท
    8. ต้องปกครองดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด มีความยุติธรรม ไม่มีอคติ
    9. ต้องพร้อมที่จะทำงานเป็นทีม และสามารถรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
    10. ต้องปฏิบัติตาม ตลอดจนต้องสนับสนุน และช่วยควบคุมกำกับพนักงานในบังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบ วินัย และข้อกำหนดของบริษัท ในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของบริษัท อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ กฎหมายลิขสิทธิ์ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัท
  2. ข้อไม่พึงปฏิบัติ

    พนักงานระดับผู้บริหารทุกคนพึงงดเว้นไม่ปฏิบัติหรือประพฤติตนไปในทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียของบริษัทและของตนเอง กล่าวคือ

    1. ใช้เวลาทำงานของบริษัทไปทำอย่างอื่น หรือใช้ประโยชน์ส่วนตัว
    2. ประกอบกิจการอันมีสภาพเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น หรือเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจครอบงำการจัดการ ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อบริษัท ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม
    3. ประพฤติตนไปในทางที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อตำแหน่งหน้าที่และเกียรติคุณของบริษัท
    4. แจ้งหรือใช้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งต่อบริษัท
    5. ทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อ กระทำการใดๆ อันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารที่ดี เพื่อให้งานลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
    6. ปกปิด หรือบิดเบือนความจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งอาจจะเป็นผลเสียหายต่อบริษัท ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
    7. ขัดขวาง หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานโดยชอบของผู้มีอำนาจหน้าที่ในบริษัท หรือออกคำสั่งใดๆ ให้พนักงานปฏิบัติในทางมิชอบหรือผิดจริยธรรม
    8. ทำผิดกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา อันส่งผลเสียหายให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
    9. เปิดเผยค่าจ้างหรือเงินเดือน อัตราการขึ้นเงินเดือนของตนเองหรือของผู้อื่น ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
    10. เรียกรับ หรือยินยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า ผู้ค้า คู่ค้า คู่แข่ง หรือบุคคลอื่นใด ที่ทำธุรกิจกับบริษัท หรือการเลี้ยงรับรอง ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าเกินกว่าความเหมาะสม ยกเว้นของขวัญตามประเพณีนิยม หรือการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจตามปกติ หรือค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมธุรกิจอันนำมาซึ่งชื่อเสียงทางการค้า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตามธรรมเนียมนิยม แต่หากสิ่งเหล่านั้นมีมูลค่าเกินกว่า [3,000] บาท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาระดับตั้งแต่[ผู้อำนวยการ]ทราบทันที
    11. ให้สินบนไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านบุคคลที่สาม และ/หรือใช้อิทธิพลอย่างไม่ถูกต้องต่อตัวแทนของรัฐ ลูกค้าหรือคู่ค้า ซึ่งนับว่าเป็นการขัดแย้งต่อนโยบายของบริษัท
    12. กระทำการเพิ่มเติม ตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในบันทึกหรือข้อมูลใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลง หรือบิดเบือนผลการดำเนินงาน และการบันทึกบัญชีให้ผิดไปจากความเป็นจริงโดยเจตนา ไม่ว่าเพื่อจุดประสงค์ใดๆ ก็ตาม
    13. ชำระเงิน หรือจัดการทางธุรกิจโดยมีเจตนา หรือทำให้เข้าใจได้ว่าส่วนหนึ่งของการชำระเงิน หรือการจัดการทางธุรกิจนั้นๆ มีจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุในเอกสารเพื่อการชำระเงินหรือการจัดการทางธุรกิจ
    14. เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายให้สันนิษฐานได้ว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
    15. ไม่รักษาข้อมูลทางทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท หรือที่บริษัทได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน
    16. ลอกเลียนแบบผลงานและทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
    17. กระทำการใดๆ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
    18. ให้หน่วยงานที่ไม่ใช่สายจัดซื้อขอการสนับสนุนจากผู้ค้าหรือคู่ค้า (หากมีความจำเป็นที่จะต้องขอการสนับสนุนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของบริษัทให้หน่วยงานต่างๆ) หารือกับสายจัดซื้อเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ยกเว้น การจัดกิจกรรมร่วมทางการตลาด ให้การตลาดของสายการตลาดและพัฒนาธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบ
    19. กระทำการอันเป็นการละเลย หรือเอื้ออำนวยแก่บุคคลใด ๆ ที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ หรือเข้าถึง หรือรบกวนระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ของบริษัทโดยมิชอบ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบริษัทหรือจงใจ สนับสนุน ยินยอมให้เกิดขึ้นหรือมีอยู่ซึ่งการกระทำผิดของผู้ให้บริการ ตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายลิขสิทธิ์ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนการลงโทษทางวินัย

  1. การฝ่าฝืนที่ไม่ร้ายแรง : ผู้บริหารจะได้รับหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะระบุลักษณะของการฝ่าฝืนรวมทั้งมูลเหตุที่อาศัยเป็นหลักของการฝ่าฝืนนั้น โดยให้โอกาสผู้บริหารดังกล่าวโต้แย้งข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินัยซึ่งแต่งตั้งโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพื่อพิจารณา และให้ถือคำตัดสินของคณะกรรมการวินัยเป็นที่สิ้นสุด หากมีการฝ่าฝืนเป็นครั้งที่สอง หรือผู้บริหารไม่แก้ไขความผิดจากการฝ่าฝืนในครั้งแรกตามที่ได้รับหนังสือเตือนนั้น ผู้บริหารดังกล่าวจะถูกลงโทษทางวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจรวมถึงการเลิกจ้างได้
  2. การฝ่าฝืนร้ายแรงซึ่งรวมถึงการฝ่าฝืนดังต่อไปนี้ เช่น การให้หรือการรับสินบน การฉ้อโกง การเปิดเผยข้อมูลความลับ หรือทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่อบุคคลที่สาม และการกระทำใด ๆ ที่เสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของบริษัทหรือปกปิดหรือไม่รายงานข้อมูล การหารือ หรือเอกสารสำคัญใด ๆ ต่อผู้บังคับบัญชา : บริษัทอาจพิจารณาเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย และโดยไม่จำเป็นต้องออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน

นโยบายการต่อต้านการทุจริตหรือคอรัปชั่น

หลักการ
บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญในการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น และยึดมั่นคุณธรรม จริยธรรม บริหารงานด้วยความโปร่งใส รวมทั้งรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนั้น บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จึงได้กำหนดแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมของคณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับ ในจริยธรรมทางธุรกิจ และจรรยาบรรณพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “บรรษัทบาล” ของบริษัท และพัฒนาสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้คณะกรรมการ ฝ่ายบริหาร และพนักงานทุกระดับ แสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติตามแนวทางและนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นของบริษัท
  2. กำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทและพนักงานฝ่าฝืนนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นของบริษัท
  3. สอบทาน กำกับ และติดตาม เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทและพนักงานปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นของบริษัทอย่างเคร่งครัด
  4. สนับสนุนให้บริษัทและพนักงานมีการเฝ้าระวังและรายงานการพบเห็นการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นฝ่ายช่องทางการสื่อสารที่ปลอดภัย

คำนิยาม
การทุจริตหรือคอร์รัปชั่น หมายถึง “การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบหรือนโยบายของบริษัท รวมทั้งขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การเรียก รับ เสนอ ให้ทรัพย์สิน สิ่งของ การช่วยเหลือทางการเมือง รวมถึงประโยชน์อื่นใดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ บริษัทเอกชน บุคคลอื่นใด และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำธุรกิจกับบริษัทและบริษัทย่อย เป็นต้น”

การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง การให้ทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเป็นการช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองตลอดจนกิจกรรมทางการเมือง

ผู้ที่เกี่ยวข้อง หมายถึง คู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้อง/ญาติสนิท ของกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับของบริษัท และบริษัทย่อย

นโยบาย
บริษัทได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติ ดังนี้

  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานจะไม่กระทำหรือสนับสนุนการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นไม่ว่ากรณีใดๆ และจะปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด
  2. มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและนโยบายการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นโดยคณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้ฝ่ายบริหารนำมาตรการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นไปสื่อสารและปฏิบัติตาม
  3. ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับถือปฏิบัติตามกฎหมายการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นในทุกท้องที่ที่บริษัทมีการทำกิจการอยู่
  4. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ซื่อสัตย์และยึดมั่นในความเป็นธรรม
  5. จัดให้มีการฝึกอบรมแก่พนักงานภายในองค์กร เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ และพร้อมจะนำหลักการและจรรยาบรรณในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานด้วยความเคร่งครัดทั้งองค์กร
  6. บริษัทจัดให้มีกระบวนการบริหารงานบุคลากรที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นตั้งแต่การคัดเลือก การฝึกอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน ตลอดจนการเลื่อนตำแหน่ง
  7. บริษัทจัดให้มีการตรวจสอบภายในเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบการควบคุมภายในช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ รวมทั้งตรวจสอบการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบ และช่วยค้นหาข้อบกพร่องจุดอ่อน รวมถึงให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  8. ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ เปิดเผยแบบแสดงบัญชีรายรับ – รายจ่าย ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
  9. กำหนดให้เลขานุการบริษัท และผู้จัดการตรวจสอบภายในเป็นบุคคลที่ทำหน้าที่ให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี

แนวปฏิบัติ

  1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น และต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
  2. ไม่กระทำการใดๆ ที่แสดงถึงเจตนาว่าเป็นการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น การให้หรือรับสินบนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและบริษัทย่อย ในเรื่องที่ตนมีอำนาจรับผิดชอบทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แก่บริษัท ตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
  3. การประเมินความเสี่ยง ผู้บริหารทุกคนต้องตระหนักว่ากระบวนการในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีความเสี่ยงจากการให้สินบน การทุจริตหรือคอร์รัปชั่นได้อย่าไร เพื่อจัดการความเสี่ยง รวมทั้งทบทวนมาตรการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวด้วย
  4. ในการดำเนินการ หรือการปฏิบัติงานใดๆ ที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น หรือขัดต่อนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น พนักงานทุกระดับรวมถึงบริษัทย่อย จะต้องปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ อย่างระมัดระวัง

    4.1 การให้ รับ ของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยงรับรองให้ปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น

    4.2 ไม่เรียกรับ หรือยินยอมจะรับทรัพย์สิน ของขวัญ ของกำนัล ประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า ผู้ค้า คู่ค้า คู่แข่ง รวมทั้งบุคคลอื่นใดที่ทำธุรกิจกับบริษัท หรือการเลี้ยงรับรองที่พิสูจน์ได้ว่าเกินความเหมาะสมอันเป็นการชักนำให้เกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หากมีความจำเป็นต้องรับควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และสิ่งของที่ให้แก่กันในหน้าที่นั้นควรมีมูลค่าที่เหมาะสม ยกเว้นของขวัญตามเทศกาลประเพณีนิยม หรือการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจตามปกติ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตามธรรมเนียมนิยม แต่หากสิ่งเหล่านั้นมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท (สามพันบาทถ้วน) ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาระดับตั้งแต่ผู้อำนายการทราบทันที

    4.3 การใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท สามารถกระทำได้ และเป็นค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของบริษัทรวมทั้งสามารถตรวจสอบได้

    4.4 ไม่กระทำการใดๆ ที่ไม่เหมาะสม โดยการการชักจูง ครอบงำ หรือตั้งใจให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบหรือผลประโยชน์ใดๆ

    4.5 การให้เงินบริจาคเพื่อการกุศลแก่องค์กรใดๆ ต้องกระทำในนามบริษัท และต้องเป็นองค์กรที่เชื่อถือได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนทางธุรกิจ มีใบรับรอง และใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งต้องมีการติดตามและตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าการบริจาคนั้นตรงตามวัตถุประสงค์และไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้อกล่าวอ้างในการติดสินบน

    4.6 การให้การสนับสนุน เพื่อส่งเสริมธุรกิจ รวมทั้งภาพลักษณ์ของบริษัทและบริษัทย่อย ไม่ว่าจะเป็น เงิน การให้บริการ วัตถุหรือทรัพย์สิน แก่โครงการหรือกิจกรรมใดๆ ต้องมีการระบุชื่อบริษัท บริษัทย่อย และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ถูกกฎหมาย รวมทั้งเป็นไปตามขั้นตอนที่บริษัทกำหนดสามารถตรวจสอบได้

  5. บริษัทจัดให้มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม สม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการขาย การตลาด รวมถึงการจัดซื้อ จัดจ้าง ต้องดำเนินการผ่านขั้นตอนตามระเบียบของบริษัท มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
  6. บริษัทมีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง โดยบุคลากรทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองตามกฎหมาย แต่พึงตระหนักที่จะไม่ดำเนินการหรือกิจกรรมใดๆ รวมถึงการนำทรัพยากรใดๆ ของบริษัทและบริษัทย่อย ไปใช้เพื่อดำเนินการหรือกิจกรรมทางการเมือง อันจะทำให้บริษัทและบริษัทย่อยสูญเสียความเป็นกลางหรือความเสียหายจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องและให้ความช่วยเหลือทางการเมือง และจะไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่พรรคการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสุนนทั้งทางตรงและทางอ้อม
  7. จัดให้มีการอบรมพนักงานทุกระดับอย่างสม่ำเสมอในเรื่องการต่อต้านการให้สินบน การทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เพื่อให้ตระหนักถึงนโยบายฉบับนี้ โดยจะบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของการปฐมนิเทศพนักงานหรือก่อนการเข้ารับตำแหน่งของพนักงานใหม่ทุคนของบริษัท
  8. ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีหน้าที่รับผิดชอบในการสื่อสารพร้อมทั้งทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งควบคุมดูแลเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพนักงานทุกระดับมีทักษะเพียงพอต่อการนำมาตรการและแนวทางนี้มาปฏิบัติในกิจกรรมที่ตนเองรับผิดชอบอยู่อย่างเหมาะสม และให้ทราบความคาดหวังของบริษัทและทราบถึงบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้
  9. ไม่ละเลย หรือเพิกเฉยเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตหรือคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวกับบริษัทและบริษัทย่อย โดยจะต้องแจ้งให้แก่ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่รับผิดชอบทราบทันทีผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นตามที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
  10. บริษัทจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงาน หรือบุคคลอื่นใดที่แจ้งเบาะแสหรือหลักฐานการทำทุจริตหรือคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและบริษัทย่อย รวมถึงพนักงานที่ปฏิเสธต่อการกระทำ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นตามที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้
  11. บริษัทให้ความมั่นใจกับพนักงานว่า จะไม่มีพนักงานคนใดต้องถูกลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือได้รับผลกระทบใดๆ จากการปฏิเสธการให้ หรือรับสินบน ถึงแม้ว่าการปฏิเสธดังกล่าวจะทำให้บริษัทสูญเสียธุรกิจ และพลาดโอกาสในการดำเนินธุรกิจ และบริษัทจะไม่ยอมให้ผู้ใดมากระทำการข่มขู่ คุกคาม หรือหน่วงเหนี่ยวพนักงานที่มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามนโยบายนี้
  12. ผู้ที่กระทำการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นถือเป็นการกระทำผิดตามนโยบายฉบับนี้ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย รวมถึงอาจได้รับโทษตามกฎหมายหากกระทำผิดกฎหมายด้วย
  13. บริษัทจะสอบทานแนวปฏิบัติและมาตรการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สภาพการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ขอบเขตการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น
เมื่อมีข้อสงสัยหรือพบเห็นการกระทำที่ฝ่าฝืนแนวปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้

  1. การกระทำที่ทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและบริษัทย่อย โดยทางตรง หรือทางอ้อม เช่น พบเห็นบุคคลหรือพนักงานในบริษัทติดสินบน หรือรับสินบนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่บริษัทหรือบริษัทย่อยได้ทำธุรกิจด้วย
  2. การกระทำที่ทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่กระทบชื่อเสียงของบริษัท
  3. การกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบการปฏิบัติงาน ข้อบังคับของบริษัท ที่เป็นเหตุให้สงสัยว่าอาจจะเป็นช่องทางในการทำทุจริตหรือคอร์รัปชั่น
  4. การกระทำที่ผิดกฎหมาย ศีลธรรม และจรรยาบรรณทางธุรกิจ
  5. การฝายฝืนการปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  6. การไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน

ช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น
คณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบ เป็นผู้พิจารณารับเรื่องการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนการกระทำที่อาจทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่าเป็นการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ที่เกิดขึ้นกับบริษัท โดยทางตรง หรือทางอ้อม โดยผ่านช่องทางการับเรื่องร้องเรียนตามนโยบายฉบับนี้ โดยผู้ร้องเรียนจะต้องระบุรายละเอียดของเรื่องที่แจ้ง หรือข้อร้องเรียน พร้อมชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ ส่งมายังช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ดังนี้

  1. ส่งไปรษณีย์ ปิดผนึก

    1.1 ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 3 อาคารรัจนาการ ชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120

    1.2 ประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 3 อาคารรัจนาการ ชั้น 17ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120

    1.3 เลขานุการบริษัท บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 3 อาคารรัจนาการ ชั้น 17 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120

  2. กล่องรับความคิดเห็นของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์
  3. ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)

    3.1 ประธานกรรมการตรวจสอบ : Chiraporn.che@nokair.com

    3.2 ประธานกรรมการกำกำกับดูแลกิจการที่ดี : Pornchai.kra@nokair.com

    3.3 เลขานุการบริษัท : Sunun.wit@nokair.com

บุคคลที่สามารถแจ้งข้อร้องเรียน
บุคคลที่สามารถแจ้งข้อร้องเรียน หรือผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น คือผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของบริษัท ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่แข่งทางการค้า เจ้าหนี้ ภาครัฐบาล ชุมชน สังคม ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท และบริษัทย่อย ทั้งนี้ไม่ว่าจะแจ้งเบาะแสด้วยช่องทางใด จะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่ได้กำหนดไว้

มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน หรือผู้แจ้งเบาแสการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น

  1. บริษัทจะเก็บข้อมูลและปกปิดชื่อ ที่อยู่หรือข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถระบุถึงผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูลได้ และจะเก็บรักษาเป็นความลับ โดยจำกัดให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
  2. ผู้ได้รับข้อมูลจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียน มีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ข้อร้องเรียนและเอกสารหลักฐานของผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูลเห็นความลับ และห้ามเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
  3. บริษัทจะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ข้อมูล หรือแหล่งที่มาของข้อมูล รวมทั้งข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  4. ผู้ที่ได้รับความเสียหายจะรับการบรรเทาความเสียหายด้วยกระบวนที่มีความเหมาะสมและ เป็นธรรม

การดำเนินการสืบสวนและบทลงโทษ
หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลหรือหลักฐานที่มีหรือได้รับมา มีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่าผู้ที่ถูกกล่าหาได้กระทำการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นจริง บริษัทจะให้สิทธิแก่ผู้ถูกร้องเรียน หรือผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบข้อกล่าวหา และให้สิทธิในการพิสูจน์ตนเอง โดยการหาข้อมูลหรือหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงให้เห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นตามที่ได้ถูกกล่าวหา

หากผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกร้องเรียน ได้กระทำการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นนั้นจริง จะถือว่าได้กระทำผิดต่อนโยบายการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทกำหนดไว้ และหากการกระทำการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นนั้นผิดกฎหมาย ผู้กระทำผิดอาจจะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ทั้งนี้ โทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทคำตัดสินของคณะกรรมการตรวจสอบถือว่าเป็นที่สิ้นสุด

การเผยแพร่นโยบายการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น

เพื่อให้ทุกคนในบริษัทได้รับทราบนโยบายการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น บริษัทจะดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. บริษัทจะติดประกาศนโยบายการต่อต้านทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ในกระดานประชาสัมพันธ์ ณ สำนักงานของบริษัททุกแห่งที่บริษัททำกิจการอยู่
  2. บริษัทจะเผยแพร่นโยบายการต่อต้านทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ผ่านช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น จดหมายอีเลคทรอนิกส์ถึงพนักงานทุกคน
    (e-mail) และเวปไซต์บริษัท (
    www.nokair.com/investor_relations)
  3. รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี (56-1) รายงานประจำปี (56-2) เป็นต้น
  4. บริษัทจะจัดให้มีการอบรมนโยบายการต่อต้านทุจริตหรือคอร์รัปชั่นให้แก่พนักงานใหม่
  5. บริษัทจะทบทวนนโยบายการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่นให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับประกาศและนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอและเผยแพร่ให้พนักงานทราบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง

รายละเอียด ดาวน์โหลด
หนังสือขอความร่วมมือลูกค้า คู่ค้า บริษัทย่อย และบริษัทร่วม
แนวปฏิบัติ การรับ-ให้ของขวัญ การเลี้ยง หรือประโยชน์อื่นใด
คำประกาศเจตนารมณ์ แนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยฯ

นโยบายความปลอดภัย

ระบบบริหารคุณภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับต้องปฏิบัติตามนโยบายคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ

นกแอร์จะดำรงไว้ซึ่งการบริหารระบบบริหารคุณภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง โดยใช้แผนบริหารจัดการเชิงรุก ในการระบุอันตรายและความเสี่ยง ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตรวจประเมินอย่างมีระบบ เพื่อกำจัดหรือลดระดับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน การบาดเจ็บของบุคคล การเสียหายของอุปกรณ์ หรือสภาพแวดล้อม

นกแอร์จะจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมและเพียงพอ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของระบบบริหารคุณภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง ผู้บริหาร และหัวหน้างานทุกคน เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนและพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเพิ่มพูนทักษะ พัฒนาความรู้ ความสามารถ การจัดสรรอุปกรณ์และเครื่องมือที่จำเป็น สถานที่ทำงาน ตลอดจนการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านต่างๆ พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อผลการดำเนินงานด้านการบริหารงานคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็น ส่วนหนึ่งในระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงาน พนักงานจึงต้องให้ความสำคัญและตระหนักในกฎ ระเบียบข้อบังคับ และขั้นตอน การดำเนินงานด้านการบริหารคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง

พนักงานทุกคนต้องมีความพร้อม ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ และมีจิตสำนึกในการให้บริการด้วยใจ พร้อมที่จะปรับปรุง แก้ไข พัฒนางานด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง ในสถานที่ปฏิบัติงานของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

พนักงานทุกคนมีหน้าที่รายงานอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ การกระทำหรือพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อหาทางป้องกันมิให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำ ทั้งนี้พนักงานต้องทราบว่าพฤติกรรมใดที่สมควรได้รับการยกเว้นจากการลงโทษ เช่น การปฏิบัติงานด้วยความผิดพลาด (Error) โดย มิได้ตั้งใจ และพฤติกรรมใดที่ต้องได้รับการลงโทษทางวินัย เช่น การฝ่าฝืน ประมาท เลินเล่อ เป็นต้น พนักงานต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง และผู้อื่นอยู่เสมอ อีกทั้งแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต่างๆ ให้ผู้อื่นได้รับทราบ

นกแอร์มุ่งมั่นที่จะดำรงไว้ซึ่งเป้าหมายการบริหารงานคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง พนักงานต้องมีความเข้าใจ ตระหนัก และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเป้าหมายนั้นร่วมกัน

ผู้บริหารนกแอร์ ต้องกำกับดูแลการตรวจประเมินการบริหารคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ให้สอดคล้องกับแผนตรวจประเมิน รวมถึงต้องมีการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินประสิทธิผลของแผนปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่อง หรือสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลา โดยใช้เครื่องมือวัดผล และตัวชี้วัด ในการประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว

พนักงานนกแอร์ทุกคน มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแล การปฏิบัติงานของพนักงานแรงงานภายนอก โดยไม่สามารถถ่ายโอนความรับผิดชอบนี้ไปให้บุคคลหรือบริษัทแรงงานภายนอกได้

นกแอร์ต้องมั่นใจว่าการใช้บริการ ระบบต่างๆ จากบริษัทแรงงานภายนอก สอดคล้องกับมาตรฐานและข้อกำหนดการบริหารงานคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง

นกแอร์จะรักษาสัมพันธภาพกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ อีกทั้งหมั่นตรวจสอบ ประเมิน และพัฒนา ผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ

นกแอร์ยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ข้อกำหนด มาตรฐานสากลว่าด้วยการบริหารงานคุณภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง


ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559


(นายพาที สารสิน)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)

กฎบัตรคณะกรรมการย่อย


รายละเอียด ดาวน์โหลด
กฎบัตรคณะกรรมการบริษัท
กฎบัตรคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี
กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ
กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน
กฎบัตรคณะกรรมการบริหาร

จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์

  1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรมและมีความรับผิดชอบ
  2. เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา โดยสอดคล้องกับข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  3. ใช้วิจารณญาณในการให้ข้อมูลอย่างระมัดระวังและรอบคอบ โดยนักลงทุนสัมพันธ์สามารถปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลได้ หากพิจารณาเห็นแล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าและอาจทำให้บริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้
  4. รักษาความลับและข้อมูลภายในของบริษัท และไมใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น
  5. เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน
  6. ในช่วงเวลา 15 วันทำการก่อนเปิดเผยงบการเงินของบริษัทในแต่ละไตรมาส บริษัทงดรับนัดและตอบคำถามเกี่ยวกับผลประกอบการในอนาคตอันใกล้หรือการคาดการณ์เกี่ยวกับธุรกิจ  (Silent Period)
  7. นักลงทุนสัมพันธ์พึงปฏิบัติตามนโยบายและจรรยาบรรณพนักงานต่างๆ ที่บริษัทได้กำหนดไว้

ข้อบังคับบริษัท


รายละเอียด ดาวน์โหลด
ข้อบังคับบริษัท